โรงพยาบาลพนัสนิคม แต่เดิมในปี พ.ศ.2484 มีชื่อว่า “สุขศาลาชื่นบำเพ็ญ” โดยนายริ้ว บริบูรณ์ คหบดีในอำเภอพนัสนิคม ได้บริจาคทรัพย์เพื่อสร้างอาคารไม้ทรงปั้นหยา ใต้ถุนสูง ค่าก่อสร้างจำนวน 5,000 บาท ในที่ดิน 4 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวา
ในปี พ.ศ.2494 นายทองคำ สุวรรณจิตต์ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยแพทย์ประจำสุขศาลา
ต่อมาในปี พ.ศ. 2505 อาคารไม้ของสุขศาลา ได้ชำรุดทรุดโทรม นายนารถ มนตเสวี ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ขออนุมัติงบประมาณจากสภาจังหวัดจำนวน 150,000 บาท เพื่อก่อสร้างสถานีอนามัยชั้น 1 ทดแทน และ ได้รับการสนับสนุนจากกรมอนามัย เทศบาลเมืองพนัสนิคม ประชาชน จำนวน 566,675 บาท พระบำราศนราดูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2508 นายแพทย์บรรณศาสตร์ สกลผดุงเขต เป็นหัวหน้าสถานีอนามัยชั้น 1
พ.ศ.2512 ได้เปลี่ยนชื่อจากสถานีอนามัยชั้น 1 เป็น “ศูนย์บริการแพทย์และอนามัย” โดยมีนายแพทย์วินัย วิริยกิจจา ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์และอนามัย
ต่อมาในปี พ.ศ.2515 ได้เปลี่ยนชื่อ เป็น “โรงพยาบาลพนัสนิคม”
จากการให้บริการประชาชนที่มากขึ้นทุกวัน ทำให้สถานที่ต่างๆคับแคบ ไม่เพียงพอที่จะให้บริการ
ในปี พศ.2517 ข้าราชการ พ่อค้า และ ประชาชน ต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญของการรักษาพยาบาล จึงได้ปรึกษาเพื่อทำการก่อสร้างโรงพยาบาลในการรองรับผู้ป่วย และทำเรื่องเสนอกระทรวงสาธารณสุขเพื่อพิจารณาได้รับการอนุมัติจัดสรรงบประมาณให้ก่อสร้าง โรงพยาบาลขนาด 30 เตียง โดย นายจรวย - นางปรานี บริบูรณ์
ได้มีจิตศรัทธาบริจาคที่ดิน จำนวน 2 แปลง เนื้อที่รวม 42 ไร่ 56 ตารางวา แลกเปลี่ยนที่ดินกับวัดเกาะแก้วนครสวรรค์ (ที่ตั้งโรงพยาบาลปัจจุบัน) เนื้อที่ 32 ไร่ 1 งาน 28 ตารางวา เนื่องจากเห็นว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะสม ไม่ห่างไกลจากชุมชนเกินไป เพื่อก่อสร้างโรงพยาบาล 30 เตียง เปิดให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ปี พ.ศ.2520
พ.ศ. 2522 ได้รับงบประมาณก่อสร้างตึกผู้ป่วยใน ขนาด 30 เตียง อีก 1 หลัง โดยมี นายแพทย์ปัญญา กีรติหัตถยากร ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาล
พ.ศ. 2523 ในเดือนพฤษภาคม ท่านเจ้าคุณพระธรรมโกศาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดชลบุรี ได้ชักชวนผู้มีจิตศรัทธา เจ้าอาวาสวัดต่างๆ ร่วมบริจาคเงินก่อสร้างตึกสงฆ์อาพาธ ขนาด 30 เตียง รวมหอฉันอีก 1 หลัง จึงได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลขนาด 60 เตียง มี นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล
พ.ศ. 2527 ได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลขนาด 90 เตียงโดยมี นายแพทย์ปัญญา กีรติหัตถยากร ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล
พ.ศ.2530 ได้ก่อสร้างต่อเติมลานตึกผู้ป่วยนอก ด้วยงบประมาณพัฒนาจังหวัดชลบุรี จำนวน 286,500 บาท โดย สส.อุทัย พิมพ์ใจชน มี นายแพทย์ประพนธ์ ราษฎรวิจิตร ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล และได้เริ่มจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาภาคเอกชนโรงพยาบาลพนัสนิคมขึ้น จำนวน 26 ท่าน ประกอบด้วยพ่อค้า คหบดี แกนนำและประชาชนในอำเภอพนัสนิคม เพื่อเป็นสื่อกลาง ประชาสัมพันธ์ ระหว่างโรงพยาบาลกับชุมชน และให้การช่วยเหลืออุปถัมภ์
โดยในปี พ.ศ. 2532 นางปรานี บริบูรณ์ และนาย คมกฤช บริบูรณ์ (บุตรชาย) ได้ก่อสร้างอาคารจรวยบริบูรณ์ 1 มูลค่า 2,149,700 บาท บริจาคให้แก่โรงพยาบาลพนัสนิคมเพื่อเป็นอนุสรณ์ แด่ นายจรวย บริบูรณ์ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองพนัสนิคม เป็นอาคารบริการทันตกรรม กายภาพบำบัด ห้องประชุมและห้องพุทธธรรม มีประชาชนบริจาคสมทบซื้ออุปกรณ์การแพทย์ และได้รับงบประมาณพัฒนาจังหวัดชลบุรี โดย สส.นิคม แสนเจริญ และ สส.เทอดธรรม อัมราลิขิต รวมเงินบริจาคจำนวน 2,456,659.74 บาท และเปิดอาคารในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2533 โดยนายแพทย์สมศักดิ์ วรคามินทร์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธี
ปี พ.ศ.2533 ได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาล 120 เตียง มีนายแพทย์ประพนธ์ ราษฎรวิจิตร ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล
ปี พ.ศ.2535 นายแพทย์เกษม ทรงจิตรัตน์ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลพนัสนิคม ได้ขอรับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี โดยนายสมชาย สหชัยรุ่งเรือง ประธานสภาจังหวัดชลบุรี เสนอขออนุมัติผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี สนับสนุนการก่อสร้างตึกอุบัติเหตุ (อาคารจรวย บริบูรณ์ 2) จำนวนเงิน 1 ล้านบาท และ นางปราณี บริบูรณ์ บริจาคอีก 17.7 ล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่
31 ธันวาคม 2537 สำหรับอุปกรณ์การแพทย์ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนชาวพนัสนิคม โดย นายวิจัย
อัมราลิขิต นายกเทศมนตรีเมืองพนัสนิคม เป็นผู้ดำเนินการ
ปี พ.ศ. 2536 นายแพทย์เกษม ทรงจิตรัตน์ ร่วมกับนายวีระวิทย์ วิวัฒน์วานิช นายอำเภอพนัสนิคม และคณะศิษย์ยานุศิษย์หลวงปู่ม่น วัดเนินตามาก อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ได้มีมติร่วมกันที่จะสร้างอาคารผู้ป่วย 4 ชั้น ด้วยการสร้างวัตถุมงคล เพื่อหารายได้ในการก่อสร้างอาคาร
ปี พ.ศ.2545 ภายใต้การนำของ นายแพทย์ประยุทธ หมื่นหน้า ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ที่ต้องการจะพัฒนาให้โรงพยาบาลเป็นที่พึ่งของประชาชนภายใต้การดูแลการรักษาที่มีคุณภาพ จึงได้ปรึกษาคณะกรรมการภาคเอกชน มีมติร่วมกัน ให้ก่อสร้างเพิ่มเติมห้องคลอดและห้องผ่าตัด แทนอาคารเก่าที่ชำรุดจึงเป็นที่มาของการก่อสร้าง อาคารผู้ป่วย 6 ชั้น ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 58,512,450 บาท
วันที่ 16 สิงหาคม 2547 นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารผู้ป่วย 6 ชั้น ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2549
วันที่ 9 มิถุนายน 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารผู้ป่วย 6 ชั้น “อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550” รายละเอียดการใช้อาคารประกอบด้วย ชั้นที่ 1 ห้องคลอด , ชั้นที่ 2 ห้องผ่าตัด , ชั้นที่ 3 ห้องผู้ป่วยอายุรกรรมหญิง , ชั้นที่ 4 ห้องผู้ป่วยหลังคลอด , ชั้น 5 และ 6 ห้องผู้ป่วยพิเศษ และห้อง VIP
วันที่ 24 มีนาคม 2553 นายจุลินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารผู้ป่วยนอก – อุบัติเหตุ 5 ชั้น ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ เดือน มีนาคม 2557
ประวัติ “อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐” โรงพยาบาลพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
ความเป็นมา
จากสภาพการให้บริการโดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องนอนพักรักษาเป็นจำนวนมากเกินปริมาณเตียงผู้ป่วยที่โรงพยาบาลจัดเตรียมไว้ จึงจำเป็นต้องจัดเตียงเสริมเพิ่มขึ้นตามตึกต่างๆ ทำให้พื้นที่ใช้สอยมีสภาพแออัดคับแคบไม่เพียงพอ ไม่สามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเนื่องจากอาคารผู้ป่วยผ่าตัด ห้องคลอด ซึ่งก่อสร้างมา 25 ปี ได้ชำรุดลง กองแบบแผน กระทรวงสาธารณสุข ได้สำรวจและประเมินสภาพชำรุดพบว่า เสาตอม่อของอาคารชำรุดหลายจุดให้งดใช้อาคารในการให้บริการผู้ป่วย ทางโรงพยาบาลและคณะกรรมการที่ปรึกษาภาคเอกชนโรงพยาบาลพนัสนิคม จึงริเริ่มสร้างอาคารผู้ป่วย 6 ชั้น เพื่อทดแทนอาคารเดิมและขยายบริการรองรับประชาชนที่มาใช้บริการ
จากเหตุผลความจำเป็นดังกล่าว โรงพยาบาลพนัสนิคม ร่วมกับคณะกรรมการที่ปรึกษาภาคเอกชน
ได้มีมติร่วมกันในการก่อสร้างอาคารผู้ป่วย 6 ชั้นทดแทน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี โดย นายภิญโญ ตั๊นวิเศษ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี และสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี (เขตอำเภอพนัสนิคม) ให้การผลักดันจัดสรรเงินอุดหนุนประจำปี 2547 จำนวน 20 ล้านบาท ใช้เงินบำรุงโรงพยาบาลจำนวน 14,545,450 บาท และผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินสมทบก่อสร้างอาคาร จำนวน 6,450,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 40,995,450 บาท ดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2548 ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ วันที่ 24 ตุลาคม 2549
ทั้งนี้ อาคารผู้ป่วยดังกล่าวได้ติดตั้งระบบแก๊ส และสูญญากาศทางการแพทย์จำนวน 9,610,000 บาท
ค่าครุภัณฑ์ประกอบอาคาร จำนวน 1,757,000 บาท สำหรับเครื่องมือแพทย์ประจำอาคารผู้ป่วยได้ดำเนินการจัดซื้อด้วยเงินอุดหนุนองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี ประจำปีงบประมาณ 2550 วงเงินงบประมาณ 6,150,000 บาท รวมเงินทั้งสิ้น 58,512,450 บาท โดยประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารผู้ป่วย 6 ชั้น เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2547 นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน ได้รับบริจาคเงินจากผู้มีจิตศรัทธาเพื่อสมทบก่อสร้างอาคารผู้ป่วย 6 ชั้นหลังนี้ ได้ยอดเงินบริจาคทั้งสิ้น 5,419,830 บาท
เนื่องจากอาคารผู้ป่วย 6 ชั้น ได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วแต่ยังขาดเครื่องมือแพทย์ประจำอาคารอีกหลายรายการ ทางโรงพยาบาลและคณะกรรมการที่ปรึกษาภาคเอกชน ดร. ประโยชน์ เนื่องจำนงค์ นายสนธยา คุณปลื้ม ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ขณะนั้น พระราชวิสุทธิเมธี เจ้าคณะจังหวัดชลบุรี รองเจ้าคณะจังหวัดชลบุรี เจ้าคณะอำเภอทุกอำเภอ เจ้าคณะตำบลทุกตำบล เจ้าอาวาสวัดต่างๆ ในเขตอำเภอพนัสนิคม ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร อดีตสมาชิกวุฒิสภา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ผู้นำท้องถิ่น สมาชิกสภาเทศบาลเมืองพนัสนิคม ข้าราชการสาธารณสุข หัวหน้าส่วนราชการอำเภอพนัสนิคม ชมรมกีฬาอำเภอพนัสนิคม ประธานกรรมการชุมชนย่อย ประธานชมรมผู้สูงอายุตำบล ประธานชมรม อสม. ชมรมผู้ประกอบการค้ายาจังหวัดชลบุรี และชมรมผู้ประกอบการร้านขายยา อำเภอพนัสนิคม- อำเภอบ่อทอง- อำเภอเกาะจันทร์ จึงได้จัดงาน ทอดผ้าป่าการแพทย์ “เพื่อสมทบจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ สำหรับอาคารผู้ป่วย ๖ ชั้น โรงพยาบาลพนัสนิคม ” เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๙ เวลา ๑๓.๐๙ น. ณ โรงเรียนพนัสพิทยาคาร อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรีได้ยอดเงินบริจาคทั้งสิ้น 5,142,984 บาท
เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 เหล่าพสกนิกรอำเภอพนัสนิคม และพื้นที่ใกล้เคียง เห็นสมควรเทิดพระเกียรติและเพื่อเป็นสิริมงคลแก่คณะเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลพนัสนิคม จึงได้ขอพระราชทานชื่ออาคารผู้ป่วย 6 ชั้น ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่ออาคารดังกล่าวว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐” และมีพระบรมราชานุญาตให้เชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ประดับที่ป้ายชื่ออาคารดังกล่าวด้วย
รายละเอียดการใช้อาคาร
ชั้นที่ 1 ประกอบด้วยห้องคลอด 2 ห้อง
ชั้นที่ 2 ประกอบด้วยห้องฟื้นฟูสุขภาพ (กายภาพ)
ชั้นที่ 3 ประกอบด้วยห้องผู้ป่วยสามัญรวม (หญิง) จำนวน 32 เตียง
ชั้นที่ 4 ประกอบด้วยห้องผู้ป่วยพิเศษรวม จำนวน 12 เตียง
ชั้นที่ 5 ประกอบด้วยห้องพิเศษ จำนวน 10 ห้อง และห้องพิเศษ VIP จำนวน 1 ห้อง
ชั้นที่ 6 ประกอบด้วยห้องพิเศษ จำนวน 10 ห้อง และห้องพิเศษ VIP จำนวน 1 ห้อง